ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

ต้องจ่าย! 6 ภาษีร้านเสริมสวย ที่กิจการมองข้าม

ภาษีร้านเสริมสวย

เชื่อว่าเจ้าของธุรกิจร้านเสริมสวย น้อยคนนักจะทราบว่า ภาษีร้านเสริมสวย ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตนเองมีอะไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะยื่นเสียแค่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ไม่ได้เสียภาษีอื่นๆ  ที่เกี่ยวข้องด้วย

กระทั่งเมื่อรายรับของกิจการทั้งที่รับเป็นเงินโอน บัตรเครดิต หรือเข้าร่วมโครงการต่างๆของรัฐบาล ถึงเกณฑ์กำหนด สถาบันการเงินจะส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร จึงมีโอกาสถูกตรวจสอบและโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ทำให้เสียภาษีเพิ่มโดยไม่จำเป็น

ดังนั้น เมื่อคุณเปิดร้านเสริมสวย ก็มีหน้าที่ต้องยื่นแบบและเสียภาษีตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะมีภาษีร้านเสริมสวย อะไรบ้างที่เกี่ยวข้องต้องไปติดตาม                 

1.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

โดยทั่วไป ภาษีร้านเสริมสวย ในช่วงแรกเมื่อเริ่มดำเนินการธุรกิจร้านเสริมสวย เจ้าของมักเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ตนเองเคยเสียมาก่อนเปิดร้าน โดยจัดอยู่ประเภทที่ 8 มาตรา 40(8) ซึ่งเป็นรายได้จากอย่างอื่นที่นอกเหนือจากประเภทที่ 1–7

ทั้งนี้ ธุรกิจร้านเสริมสวยประเภทการตัด ตัดแต่งผม หรือตกแต่งร่างกาย เวลายื่นภาษีสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 กรณี คือ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60% ของรายได้ หรือหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง

สูตรการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ

(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย

หลังจากนำรายได้หักลบด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว ให้นำยอดตัวเลขที่ได้มาคูณกับอัตราภาษีก้าวหน้า ดังนี้

รายได้สุทธิ     1 – 150,000 บาท         ได้รับการยกเว้น

รายได้สุทธิ     150,001 – 300,000     อัตราค่าภาษี 5% (เสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท)

รายได้สุทธิ     300,001 – 500,000     อัตราค่าภาษี 10% (เสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 27,500 บาท)

รายได้สุทธิ     500,001 – 750,000     อัตราค่าภาษี 15% (เสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 65,000 บาท)

รายได้สุทธิ     750,001 – 1,000,000   อัตราค่าภาษี 20% (เสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 115,000 บาท)

รายได้สุทธิ     1,000,001 – 2,000,000 อัตราค่าภาษี 25% (เสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 365,000 บาท)

รายได้สุทธิ     2,000,001 – 5,000,000    อัตราค่าภาษี 30% (เสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 1,265,000 บาท)

รายได้สุทธิ      5,000,001 บาทขึ้นไป   อัตราภาษี 35%     (เสียภาษีมากกว่า 1,265,000 บาท) 

หากคำนวณแล้วมียอดตัวเลขในขั้นตอนสุดท้าย เจ้าของร้านเสริมสวยจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามยอดดังกล่าว (รายละเอียดการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา “เจาะลึก! วางแผน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา”)

ช่วงระยะเวลาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

– ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ให้นำรายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน ของปีภาษีนั้น มายื่นภาษีช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน ของปีที่มีเงินได้ หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตได้ภายในวันที่ 8 ตุลาคมของทุกปี

– ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) ให้นำรายได้ช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม ของปีภาษี ยื่นภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม ของปีถัดไป หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตภายในวันที่ 8 เมษายนของทุกปี

2.ภาษีเงินได้นิติบุคคล

หลังจากการดำเนินกิจการร้านเสริมสวยมาเป็นเวลาพอสมควร กอปรกับมีรายได้จากการให้บริการเสริมสวยสูงหลายล้านบาทต่อปี เมื่อเปรียบเทียบภาษีร้านเสริมสวยในส่วนของภาษีในนามบุคคลธรรมดาที่เสียภาษีสูงสุดถึง 35% กับในนามนิติบุคคลที่คำนวณภาษีจากกำไรสุทธิสูงสุด 20% ก็ถึงเวลาที่ควรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล

และหน้าที่ที่สำคัญสำหรับนิติบุคคลคือ ต้องมีการทำบัญชีภาษีตามกฎหมายกำหนด ซึ่งควรใช้บริการทำบัญชี จะส่งผลดีต่อกิจการในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องภาษีที่ยื่นได้อย่างถูกต้อง ไม่ต้องโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังหรือเสียค่าปรับในกรณียื่นภาษีล่าช้า ส่วนบัญชีที่จัดทำขึ้นสามารถนำไปใช้วางแผนการดำเนินกิจการต่อในอนาคตได้

โดยวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้นำรายได้ทั้งหมดหักด้วยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งรายจ่ายที่นำมาใช้หักเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการร้านเสริมสวยได้ เช่น

– ค่าเช่าสถานที่

– ค่าแรงช่างเสริมสวย

– ค่าจ้างพนักงานในร้านเสริมสวย

– ค่าใช้จ่ายวัสดุต่างๆ

– ยาสระผม ครีมต่างๆ ที่ไว้บริการลูกค้า

– ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดที่เกี่ยวข้องกับกิจการโดยตรง

สูตรการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ

จากนั้นนำกำไรสุทธิที่ได้มาคิดภาษีเปรียบเทียบตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ “แนวทางวางแผน ภาษีนิติบุคคล

 

3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นภาษีร้านเสริมสวยที่เมื่อใดก็ตามที่ผลประกอบการของกิจการร้านเสริมสวยเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ยื่นแบบ ภ.พ.01) ภายใน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้าน

และหลังจากจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้เข้ารับบริการ โดยมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่ต้องปฏิบัติเพิ่มเติมดังนี้

– ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากผู้เข้ารับบริการหรือซื้อสินค้าในร้าน และออกใบกำกับภาษีให้กับลูกค้าหลังจากได้รับค่าบริการหรือส่งมอบสินค้า

– ขอใบกำกับภาษีทุกครั้งที่มีการซื้อ หรือรายจ่ายที่เกี่ยวกับกิจการร้านเสริมสวยจริง เพื่อนำภาษีซื้อไปหักกับภาษีขาย หรือเครดิตภาษีขายในเดือนถัดไปได้ เช่น ค่าเช่า ค่าไฟ ค่าน้ำ น้ำยาต่างๆ ที่ซื้อเข้ามาเพื่อให้บริการลูกค้า รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือที่ใช้ในร้าน

– มีหน้าที่จัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ รายงานภาษีขาย ยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือนแก่กรมสรรพากร

วิธีคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ มูลค่าบริการหรือสินค้า x 7% = ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ต้องนำส่งกรมสรรพากร

 

4.ภาษีป้าย

ภาษีป้าย เป็นภาษีร้านเสริมสวยที่เจ้าของกิจการต้องเสียภาษี หากมีการติดตั้งป้ายใหม่หรือแสดงป้ายใหม่ ป้ายโฆษณา จะต้องชำระภาษีป้ายต่อเจ้าพนักงานภายใน 15 วัน และจะต้องยื่นชำระภาษีป้ายทุกปีที่ยังติดตั้งป้าย

โดยภาษีป้ายที่ต้องเสียจะคำนวณจากขนาดของป้าย และประเภทตัวอักษรไทยหรืออังกฤษที่กิจการร้านเสริมสวยใช้ ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดต่างๆ ได้จากบทความ “เคาะเงื่อนไข! ภาษีป้ายร้านเสริมสวย ที่ถูกลืม”

 

 5.ภาษีขยะ

ภาษีร้านเสริมสวยที่กิจการมักมองข้ามที่สุดคือ ภาษีขยะ จะขึ้นอยู่กับอัตราจัดเก็บของแต่ละเขต เทศบาล โดยอาจพิจาณาจากปริมาณขยะ ของเสียที่ต้องจัดเก็บและนำไปทำลาย

นอกจากภาษีร้านเสริมสวยที่กิจการต้องจ่าย เมื่อเข้าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้ว หากมีการจ้างพนักงานประจำ จ่ายเป็นรายเดือนทุกเดือน จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนเป็นนายจ้าง และเข้าประกันสังคมให้กับพนักงานผู้ประกันตน พร้อมส่งเงินสมทบประกันสังคมทุกเดือน