ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

ล้มละลาย อยากจดบริษัททำได้หรือไม่

ล้มละลาย

เมื่อชีวิตมาถึงจุดที่มีหนี้สินจำนวนมากไม่สามารถจัดการได้จนถูกฟ้องศาล กลายเป็นบุคคล ล้มละลาย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัทนิติบุคคล การใช้ชีวิตจะเปลี่ยนไปไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้เฉกเช่นเป็นมา หลายรายต้องถูกออกจากบริษัทตามข้อกำหนดของบริษัทที่ห้ามมีพนักงานล้มละลาย

หรือใครที่มีตำแหน่งสำคัญในบริษัทก็ไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ จนกว่าจะพ้นจากสภาพการเป็นบุคคลล้มละลาย

ดังนั้น หากบุคคลใดถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย จะไม่สามารถจดบริษัทเป็นชื่อของตนเอง และทำธุรกรรมภายใต้ชื่อตนเองได้ จนกว่าจะพ้นจากสภาพการเป็นบุคคลล้มละลาย 

แต่ใช่ว่าบุคคลล้มละลายจะไม่สามารถลืมตาอ้าปาก หรือทำธุรกิจอะไรได้เลย เพียงแต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ซึ่งแนวทางปฏิบัติจะเป็นอย่างไรเมื่ออยากมีธุรกิจ และจดบริษัทเป็นของตนเองในขณะที่ล้มละลาย สามารถศึกษาได้จากบรรทัดต่อจากนี้ไป

ทำความเข้าใจ ทำธุรกิจได้หรือไม่เมื่อ ล้มละลาย                      

บุคคลล้มละลาย คือ บุคคลธรรมดาหรือบริษัทนิติบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว สาเหตุจาก

– เป็นบุคคลธรรมดาที่มีหนี้ไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท

– เป็นนิติบุคคลที่มีหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท

– เป็นผู้ที่มีแนวโน้มที่จะมีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือไม่มีความสามารถที่จะชำระหนี้ได้

เมื่อลูกหนี้ถูกฟ้องคดี ศาลจะทำการพิจารณาสืบพยานหลักฐาน หากพบว่าเป็นจริง ศาลจะกำหนดต่อลูกหนี้เมื่อผ่านการพิจารณาคลีล้มละลาย เพื่อแสดงว่าลูกหนี้ไม่มีความสามารถที่จะชำระหนี้ได้อีกต่อไป และใช้กฎหมายเข้าควบคุมการบริหารหนี้และพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แบบเด็ดขาด

โดยคำสั่งพิทักษ์เด็ดขาดนี้ ลูกหนี้จะไม่มีสิทธิกระทำการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของตนเองได้ ยกเว้นแต่ทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาลหรือพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น

 

ผลกระทบจากการเป็นบุคคลล้มละลาย

นอกจากบุคคลล้มละลายจะไม่สามารถจดบริษัทนิติบุคคลเป็นชื่อของตัวเองได้แล้ว ยังมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การงานในเรื่องอื่นๆ อีก ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

– บุคคลล้มละลายไม่สามารถดำรงตำแหน่งในบริษัทได้ หากมีความจำเป็นจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน จึงจะดำรงตำแหน่งได้

– บุคคลล้มละลายอาจต้องออกจากงาน หากบริษัท หน่วยงาน หรือองค์กรที่ปฏิบัติงานอยู่มีกำหนดไว้ว่าพนักงานต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

– บุคคลล้มละลายไม่สามารถทำราชการได้ ในกรณีที่รับราชการอยู่อาจต้องออกจากราชการ

– บุคคลล้มละลายไม่สามารถทำนิติกรรมและธุรกรรมทางการเงินได้ เช่น เปิดบัญชี กู้ธนาคาร โอนเงิน ถอนเงิน เป็นต้น

– บุคคลล้มละลายไม่สามารถร่วมกิจกรรมทางการเมือง เช่น สมัครรับเลือกตั้ง  

– บุคคลล้มละลายไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ หากมีเหตุจำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อน และถ้าหากได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามที่ได้ตกลงกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อย่างเคร่งครัด

 

ล้มละลาย อยากจดบริษัทต้องทำอย่างไร

ตามหลักการแล้ว เมื่อกลายเป็นบุคคลล้มละลายแม้มีธุรกิจก็ไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ หรือที่ต้องการจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคลก็ไม่สามารถทำได้ ต้องใช้เป็นชื่อคนอื่นแทน ในกรณีที่บริษัทนิติบุคคล หรือรอให้พ้นจากสภาพการเป็นบุคคลล้มละลายเสียก่อน

ทั้งนี้ การถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายจะมีกำหนดระยะเวลา 3 ปี หากลูกหนี้ทำตามข้อกำหนดของศาลได้อย่างเคร่งครัด รายงานทรัพย์สินและจัดการทรัพย์สินได้อย่างครบถ้วนในเวลา 3 ปี จะถูกปลดจากสภาพการเป็นบุคคลล้มละลาย แต่ถ้าไม่ทำตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ระยะเวลาการล้มละลายก็จะถูกยืดออกไปอีก

หลังจากครบกำหนด 3 ปี และมีคำสั่งปลดจากสภาพการเป็นบุคคลล้มละลายได้แล้ว ให้บุคคลล้มละลายติดต่อกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ เพื่อขอปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งจะทำให้บุคคลล้มละลายนั้นหลุดพ้นจากหนี้สิน ยกเว้นแต่หนี้สินที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร หรือหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการทุจริต ฉ้อโกงของบุคคลล้มละลาย และสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ หากกฎหมายไม่ได้ห้ามเกี่ยวกับคุณสมบัติไว้

ใครที่ทำธุรกิจอยู่แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล ก็ถึงเวลาแล้วที่จะเริ่มต้นธุรกิจของตนเองอีกครั้งแบบไม่สะดุด โดยสามารถศึกษาการจดทะเบียนนิติบุคคลได้จากบทความ “ควรจดทะเบียนบริษัทหรือไม่ ตัดสินใจยังไง ที่นี่มีคำตอบ” หรือใช้บริการสำนักงานบัญชีจดบริษัทให้ได้

 

สรุป

แม้ว่าคุณจะกลายเป็นบุคคลล้มละลาย แต่ไม่ใช่วาระสุดท้ายของชีวิต เมื่อบุคคลล้มละลายทำตามข้อกำหนดของศาลอย่างเคร่งครัดจนครบเวลา 3 ปี ก็จะถูกปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลาย กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ธุรกิจและธุรกรรมต่างๆ ก็สามารถกลับมาทำได้เหมือนอย่างเคย

จึงสรุปข้อสงสัยได้ว่า บุคคลล้มละลายสามารถจดบริษัทเป็นนิติบุคคลได้ เมื่อถูกปลอดจากการเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว นั่นเอง

แต่ทางที่ดีที่สุดก่อนที่จะกลายเป็นบุคคลล้มละลาย ควรหาวิธีในการเจรจาประนอมหนี้ ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือในการเจรจาประนอมหนี้ได้ เช่น กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม โดยจะไกล่เกลี่ยหนี้สินก่อนที่จะถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย