งานรับเหมาก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นงานก่อสร้างถนน รับเหมาโครงการ สร้างโรงงาน สร้างอาคาร ตึก บ้านพักอาศัย เป็นต้น เมื่อมีรายได้จะต้องมีหน้าที่เสีย ภาษีรับเหมาก่อสร้าง ทั้งที่ดำเนินธุรกิจในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
แต่ส่วนใหญ่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่เสียภาษีในนามบุคคลธรรมดา มักเกิดปัญหาโดนภาษีย้อนหลัง ซึ่งอาจเกิดจากไม่ค่อยทราบข้อมูลเรื่องภาษี ไม่รู้ว่าจะต้องเสียภาษีอะไรบ้าง บางรายไม่ได้ยื่นภาษีหรือยื่นไม่ครบ ไม่ถูกต้อง ทำให้มีโอกาสถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง
ดังนั้น ภาษีรับเหมาก่อสร้าง สำหรับเจ้าของธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา ควรวางแผนให้ดีเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบย้อนหลัง เสียเงินโดยไม่จำเป็นและเพื่อช่วยให้ประหยัดภาษีได้ด้วย
ภาษีรับเหมาก่อสร้าง ที่เกี่ยวข้องเจ้าของธุรกิจ
สำหรับภาษีที่เกี่ยวข้องกับงานรับเหมาก่อสร้าง จะมีที่เกี่ยวข้องคือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีอากรแสตมป์ ซึ่งสามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
งานรับเหมาก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1.เหมาค่าแรงและค่าสินค้า ถือเป็นรายได้พึงประเมินตามมาตรา 40(7)
2.เหมาเฉพาะค่าแรงอย่างเดียว ถือเป็นรายได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8)
โดยรายได้รับเหมาก่อสร้างสำหรับบุคคลธรรมดา ที่ต้องนำคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อธิบายตามมาตราที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้
– ประเภทที่ 7 40(7) เป็นการรับเหมาโดยรับเหมาทั้งค่าแรงงานและค่าสินค้า ที่ทำในเชิงธุรกิจ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ คือ หักในอัตราเหมา 60% ของรายได้ หรือหักค่าใช้จ่ายได้ตามตามจริง
โดยเงินได้จากการรับเหมาก่อสร้างนี้ หากมีคู่สมรสและร่วมกันประกอบธุรกิจ สามารถแบ่งรายได้ออกเป็นของแต่ละฝ่ายคนละกึ่งหนึ่ง และมีสิทธิ์เลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตรา 60% ของเงินได้ หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง โดยต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินที่พิสูจน์ผู้รับได้ จัดทำบัญชีเงินสดรับ-จ่าย ไว้ให้ชัดเจนและเก็บเอกสารไว้ให้ครบทุกใบ
– ประเภทที่ 8 40(8) เป็นรายได้จากอย่างอื่นที่นอกเหนือจากประเภทที่ 1–7 ซึ่งเป็นการรับเหมาเฉพาะค่าแรงอย่างเดียว สามารถหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
– เจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท/ปีภาษี หรือวันที่มีรายได้ถึง 1.8 ล้านบาท มีหน้าที่ขอจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้ยื่นจดไม่เกิน 30 วันนับ ตั้งแต่วันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี จากนั้นนำยอดขายในแต่ละเดือนภาษีมายื่นรายการตามแบบ ภ.พ.30
– เจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว ให้นำยอดขายในแต่ละเดือนภาษีมายื่นรายการตามแบบ ภ.พ.30 โดยยื่นแบบ ภ.พ.30 พร้อมชำระภาษี (ถ้ามี) เป็นรายเดือนภายในวันนี้ 15 ของเดือนถัดไป ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไป
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ในกรณีที่ผู้ว่าจ้างเป็นนิติบุคคล จะต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ทุกครั้ง และนำส่งกรมสรรพากรทุกเดือน ส่วนผู้รับจ้างหรือผู้รับเหมาก่อสร้างนั้น จะได้ใบ 50 ทวิ เพื่อนำไปยื่นภาษีสิ้นปี และสำหรับขอคืนภาษี 3% ที่ถูกหักไปก่อนหน้านี้ หากคำนวณแล้วไม่มีภาษีที่ต้องเสียก็สามารถขอคืนได้
ภาษีอากรแสตมป์
หากมีการจัดทำสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้าง ในฐานะผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องปิดอากรแสตมป์เงินในอัตรา 1 บาทต่อทุกจำนวนค่าจ้าง 1,000 บาท และเศษของ 1,000 บาท
หลักการยื่นภาษีรับเหมาก่อสร้าง
หลักการและช่วงเวลายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งต้องยื่นภาษีรับเหมาก่อสร้าง 2 รอบ ดังนี้
– ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) เงินได้ตามมาตรา 40(5) – (8) ให้นำรายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน ของปีภาษีนั้น มายื่นภาษีช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน ของปีที่มีเงินได้ หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตได้ภายในวันที่ 8 ตุลาคมของทุกปี
– ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) เงินได้ตามมาตรา 40(1) – (8) ให้นำรายได้ช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม ของปีภาษี ยื่นภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม ของปีภาษีถัดไป หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตภายในวันที่ 8 เมษายนของปีถัดไป
วางแผนภาษีรับเหมาก่อสร้าง
การวางแผน ภาษีรับเหมาก่อสร้าง สามารถทำให้เสียภาษีน้อยลงได้ดังนี้
1.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยให้เลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง แทนการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% หากคำนวณดูแล้วมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งวิธีนี้จะต้องมีการจัดทำรายงานเงินสดรับ-จ่าย และเก็บเอกสารประกอบการจ่ายค่าใช้จ่ายให้ครบ
อย่างเช่นค่าแรงที่จ่ายให้กับทีมงาน ต้องมีหลักฐานการจ่ายค่าแรง เพื่อนำมาหักเป็นค่าใช้จ่าย หรือค่าเลี้ยงข้าวพนักงาน สามารถขอใบเสร็จเพื่อใช้หักเป็นค่าใช้จ่ายสิ้นปีได้ โดยจะต้องพยายามรวบรวมเอกสารให้ได้มากที่สุด
2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่จดภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องตั้งราคาบวกภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ตั้งแต่เสนองานรับเหมา ส่วนในด้านของการซื้อของ เช่น วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง วัตถุดิบที่ใช้ในการงาน ต้องขอใบกำกับภาษีซื้อจากผู้ขายทุกครั้งเพื่อใช้หักภาษีขาย หรือหากเป็นใบเสร็จ บิลเงินสดก็สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้
รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าน้ำมันรถ ค่าทางด่วน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต ค่าซ่อมแซมรถ ค่าประกันภัยรถยนต์ สามารถขอใบกำกับภาษีซื้อเพื่อใช้หักภาษีขายได้
3.ใช้สิทธิค่าลดหย่อนอื่นๆ เช่น ลดหย่อนบุตร บิดามารดา บริจาค ประกันชีวิต เป็นต้น เพื่อช่วยลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้น
ถึงเวลาที่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของคุณ…ควรจดบริษัทแล้วหรือยัง?
ทั้งนี้ ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง หากมีรายได้อื่นๆ ต้องนำมารวมคำนวณกับรายได้รับเหมาก่อสร้างด้วย หากเสียภาษีเฉพาะรายได้รับเหมาก่อสร้างเพียงอย่างเดียว อาจทำให้คิดผิดและต้องเสียค่าปรับไปโดยไม่จำเป็น
ตลอดจนเมื่อมีรายได้เยอะขึ้น กระทั่งฐานภาษีเพิ่มเกิน 20% ควรขอคำปรึกษาจากสำนักงานบัญชีเพื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพราะจะช่วยให้เสียภาษีได้ถูกลงด้วย (รายละเอียดหลักการจดบริษัทนิติบุคคล “จดบริษัทด้วยตนเอง ทำได้ง่ายนิดเดียว…จริงหรือ?”)