ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

จดบริษัทด้วยตนเอง ทำได้ง่ายนิดเดียว…จริงหรือ?

จดบริษัทด้วยตนเอง

จดบริษัทด้วยตนเอง ทำได้ง่ายนิดเดียวจริงหรือ… นอกจากความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่สร้างได้จากการวางแผนบริหารงานอย่างมีระบบแล้ว ความเชื่อมั่นทางธุรกิจในด้านการซื้อขายกับลูกค้า ก็สามารถสร้างได้จากการจดทะเบียนบริษัท โดยเฉพาะลูกค้าที่อยู่ในรูปแบบนิติบุคคล ย่อมอยากติดต่อซื้อขายกับบริษัทนิติบุคคลเช่นกัน เพื่อประโยชน์ทางภาษีหลายๆ ด้าน

ดังนั้น เมื่อเจ้าของธุรกิจกำลังจะจดทะเบียนบริษัท หากทำงานคนเดียวและพอมีเวลา หรือเจ้าของธุรกิจที่มีผู้ช่วยก็สามารถ จดบริษัทด้วยตนเอง ได้ แต่ในทางกลับกันหากการ จดบริษัทด้วยตนเอง ทำให้บั่นทอนเวลาในการบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งส่งผลถึงรายได้ยอดขายที่จะเข้ามา อาจใช้บริการจากสำนักงานบัญชี ซึ่งโดยทั่วไปก็มีบริการรับจดทะเบียนบริษัท ด้วยเช่นกัน

กรณีที่จดบริษัทด้วยตนเอง สามารถยื่นได้ 2 ช่องทาง คือ ยื่นขอจดทะเบียนบริษัทพร้อมเอกสารต่อนายทะเบียนที่สำนักงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และยื่นขอจดทะเบียนบริษัททางออนไลน์ผ่านทางอินเตอร์เน็ตที่ http://www.dbd.go.th/

แต่ก่อนที่จะขอจดทะเบียนบริษัท เจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องทราบขั้นตอนหลักๆ ซึ่งประกอบด้วย

– การจองชื่อบริษัท

– ยื่นจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ

– ขั้นตอนการจดบริษัทด้วยตนเอง

รวมถึงเอกสารที่ต้องใช้ ค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมถึงขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เสียเวลาดำเนินการขอจดทะเบียนบริษัทซ้ำหลายรอบ

 

วิธีการจองชื่อบริษัท ก่อนขอจดบริษัทด้วยตนเอง

1.หลักการตั้งชื่อบริษัท

ก่อนที่จะยื่นจองชื่อบริษัท เจ้าของธุรกิจต้องตั้งชื่อบริษัทที่ต้องการก่อน โดยชื่อจะต้องไม่ซ้ำหรือคล้ายกับบริษัทอื่นๆ ที่จดทะเบียนไปแล้ว ควรใช้ชื่อที่สั้นและเข้าใจง่าย รวมถึงไม่ใช้คำหยาบคาย หลีกเลี่ยงชื่อที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ และหน่วยงานราชการ เพราะตามหลักเกณฑ์การจองชื่อนิติบุคคล ได้ระบุไว้ว่าจะต้องไม่มีข้อความที่เกี่ยวข้องดังนี้

– พระนามของพระเจ้าแผ่นดิน พระมเหสี รัชทายาท หรือพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวงศ์ปัจจุบัน เว้นแต่ได้รับพระบรมราชานุญาต

– ชื่อประเทศ เว้นแต่จะได้ระบุไว้ในวงเล็บต่อท้ายชื่อ และอยู่หน้าคำว่า “จำกัด”

– ชื่อที่อาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า รัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการ  ราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงาน หรือองค์การระหว่างประเทศเป็นเจ้าของ หรือผู้ดำเนินการ

– ชื่อกระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานหรือองค์กรของรัฐ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้อง

2.ขั้นตอนการจองชื่อบริษัท

2.1 ตรวจสอบชื่อ และจองชื่อบริษัทได้ 2 ทางคือ

– จองผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในเขตที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือกรณีที่สถานประกอบการอยู่ต่างจังหวัด สามารถจองได้ที่สำนักงานพาณิชย์ประจำจังหวัด

– จองผ่านอินเตอร์เน็ต โดยกรอกข้อมูลที่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (https://www.dbd.go.th/)

2.2 การจองชื่อนิติบุคคลจะเป็นผู้ถือหุ้น หุ้นส่วนผู้จัดการในกรณีห้างหุ้นส่วน หรือกรรมการในกรณีบริษัทเป็นผู้ยื่นขอจองชื่อก็ได้ แต่บุคคลนั้นต้องเป็นผู้ลงนามในใบอนุมัติจองชื่อดังกล่าว

2.3 สามารถจองชื่อได้ 3 ชื่อ และจะได้รับการพิจารณาชื่อแรกก่อน หากชื่อแรกซ้ำหรือไม่ผ่านเกณฑ์ ทางนายทะเบียนก็จะพิจารณาชื่อในลำดับถัดไปแทน

 

การยื่นจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ

หนังสือบริคณห์สนธิ เป็นหนังสือที่ใช้แสดงความต้องการในการจัดตั้งบริษัท ต้องมีการระบุที่อยู่ วัตถุประสงค์ จำนวนหุ้น และข้อมูลของผู้ก่อตั้ง

ดังนั้น การจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ จะเกิดขึ้นหลังจากจองชื่อได้แล้ว และต้องยื่นจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ ภายใน 30 วัน หากยื่นจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิช้ากว่านั้นต้องทำการจองชื่อใหม่ ซึ่งสามารถใช้ชื่อเดิมในการจองได้ ถ้าหากยังไม่มีบริษัทอื่นๆ นำไปใช้ก่อน

โดยให้บุคคลซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เข้าชื่อกันจัดทำคำขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ และเอกสารประกอบแล้วนำไปจดทะเบียน

 

ขั้นตอนการขอจดบริษัทด้วยตนเอง

หลังจากจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิได้เรียบร้อยแล้ว ให้ทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

1.จัดให้มีการจองซื้อหุ้นบริษัทและนัดประชุมผู้ถือหุ้น เมื่อจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิแล้ว ผู้ก่อการต้องจัดให้หุ้นของบริษัทที่คิดจะจัดตั้งขึ้นนั้น มีผู้เข้าชื่อจองซื้อหุ้นจนครบ ซึ่งผู้ถือหุ้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ก่อตั้งเท่านั้น โดยทุกคนต้องถือคนละ 1 หุ้นหรือมากกว่า

2.จากนั้นเมื่อทำการขายหุ้นบริษัทจนครบแล้ว จะต้องดำเนินการประชุมจัดตั้งบริษัท โดยต้องส่งคำบอกกล่าวนัดประชุมให้ผู้จองหุ้นทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ก่อนวันประชุม

3.จัดประชุมเพื่อจัดตั้งจดทะเบียนบริษัท โดยวาระการประชุมจะประกอบด้วย

– การตั้งระเบียบข้อบังคับของบริษัท

– การเรียกชำระค่าหุ้น

– การเลือกตั้งคณะกรรมการบริษัทและอำนาจของคณะกรรมการ

– การเลือกผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เพื่อทำการตรวจสอบและรับรองงบการเงิน ซึ่งต้องแต่งตั้งบุคคลธรรมดาเท่านั้น

– การรับรองสัญญาที่ผู้ก่อตั้งทำขึ้นก่อนการจดทะเบียนบริษัท

– กำหนดค่าตอบแทนแก่ผู้ริเริ่มกิจการหรือผู้ก่อตั้ง (ถ้ามี)

– กำหนดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิ พร้อมกับกำหนดสภาพและบุริมสิทธิของหุ้นบุริมสิทธิว่ามีสภาพหรือสิทธิอย่างไร

4.เมื่อได้ประชุมตั้งบริษัทและแต่งตั้งกรรมการบริษัทแล้ว ผู้เริ่มก่อการต้องมอบหมายกิจการงานทั้งหมด ให้กรรมการบริษัทที่ได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมรับไปดำเนินการต่อไป

5.กรรมการบริษัทจัดการเรียกให้ผู้เริ่มก่อการและผู้จองหุ้น ชำระค่าหุ้นอย่างน้อยร้อยละ 25 ของมูลค่าหุ้น

6.เมื่อได้รับเงินค่าหุ้นครบแล้ว กรรมการต้องทำคำขอจดทะเบียนตั้งบริษัท และนำเอกสารประกอบไปจดบริษัทด้วยตนเอง ภายใน 3 เดือน หลังจากการประชุมตั้งบริษัท ได้ 2 ช่องทางคือ

– ยื่นขอจดทะเบียนบริษัทพร้อมเอกสารต่อนายทะเบียนที่สำนักงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

– ยื่นขอจดทะเบียนบริษัททางอินเตอร์เน็ตที่ http://www.dbd.go.th/ (สามารถดูวิธีการจดทะเบียนบริษัทด้วยตนเองทางอินเตอร์เน็ตแบบ step by step ละเอียดทุกขั้นตอนได้จากคลิป)

สิ่งที่ห้ามมองข้ามคือ ถ้าหากขอจดบริษัทด้วยตนเองล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนด จะถือว่าการประชุมเป็นโมฆะ และจะต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นใหม่อีกครั้ง

7.จากนั้นรอนายทะเบียนรับคำขอจดทะเบียน กระทั่งได้เอกสารหลักฐานการจดบริษัทแล้ว ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทถือเป็นอันเสร็จเรียบร้อยถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหลังจากจดทะเบียนบริษัทแล้ว เจ้าของธุรกิจจะต้องเจอกับอะไรบ้างนั้น สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ “แนวทาง… วางแผนภาษีนิติบุคคล” 

ค่าธรรมเนียมในการจดบริษัทด้วยตนเอง

การขอจดทะเบียนบริษัท จะมีค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายอยู่ 2 ช่วง คือช่วงจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ กับช่วงที่จดทะเบียนบริษัท ดังนี้

1.ค่าธรรมเนียมสำหรับจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ 500 บาท

2.ค่าธรรมเนียมสำหรับจดทะเบียนนิติบุคคล

– ค่าธรรมเนียมจดทะเบียน ในกรณีจดเป็น บริษัทจำกัด 5,000 บาท

– ค่าธรรมเนียมจดทะเบียน ในกรณีจดเป็น ห้างหุ้นส่วนจำกัด 1,000  บาท

นอกจากนี้ยังมีค่าธรรมเนียมในส่วนอื่นเพิ่มเติมดังนี้

– ค่าธรรมเนียมออกหนังสือรับรองหุ้นส่วนบริษัท 200 บาท

– ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน 100 บาท

– คัดเอกสารสำคัญต่างๆ หน้าละ 50 บาท

– ค่าตรวจสอบเอกสารคำขอจดทะเบียนและรายชื่อผู้ถือหุ้น 100 บาท

 

เอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อขอจดบริษัทด้วยตนเอง

เอกสารหลักฐานที่ใช้ประกอบการขอจดทะเบียนบริษัท จะต้องเตรียมเอกสารเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือส่วนที่จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ กับส่วนที่จดทะเบียนบริษัท ซึ่งเอกสารที่ต้องใช้ประกอบด้วย

1.เอกสารสำหรับจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ

– คำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด(แบบ บอจ.1)

– หนังสือบริคณห์สนธิ (แบบ บอจ.2) ผนึกอากรแสตมป์ 200 บาท

– แบบวัตถุที่ประสงค์ (แบบ ว.)

– แบบจองชื่อนิติบุคคล

– สำเนาบัตรประจำตัวของผู้เริ่มก่อการทุกคน

– สำเนาหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี)

– หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนบริษัทไม่สามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ด้วยตนเองได้ ให้ทำหนังสือมอบอำนาจพร้อมผนึกอากรแสตมป์ 10 บาท)

ทั้งนี้ ในสำเนาเอกสารประกอบคำขอจดทะเบียนบริษัททุกฉบับ จะต้องให้ผู้ขอจดทะเบียนอย่างน้อยหนึ่งคน รับรองความถูกต้องด้วย ยกเว้นสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อผู้ขอจดทะเบียน ให้ผู้เป็นเจ้าของบัตรหรือผู้ขอจดทะเบียนอย่างน้อยหนึ่งคนเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้อ’

2.เอกสารสำหรับจดทะเบียนบริษัท

2.1 บริษัทจำกัด

– คำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด (แบบ บอจ.1)

– แบบคำรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัด

– รายการจดทะเบียนจัดตั้ง (แบบ บอจ.3)

– รายละเอียดกรรมการ (แบบ ก.)

– บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5)

– สำเนาหนังสือนัดประชุมตั้งบริษัท

– สำเนารายงานการประชุมตั้งบริษัท

– สำเนาข้อบังคับ ผนึกอากร 200 บาท (ถ้ามี)

– หลักฐานการชำระค่าหุ้นที่บริษัทออกให้แก่ผู้ถือหุ้น

– กรณีบริษัทจำกัดมีผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างด้าวถือหุ้นในบริษัทไม่ถึง 50% ของทุนจดทะเบียน หรือกรณีบริษัทจำกัดไม่มีคนต่างด้าวเป็นผู้ถือหุ้น แต่เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามหรือร่วมลงนามผูกพันบริษัท ให้ส่งเอกสารหลักฐานที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินของผู้ถือหุ้นที่มีสัญชาติไทยประกอบคำขอจดทะเบียน โดยเอกสารดังกล่าวจะต้องแสดงจำนวนเงินที่สอดคล้องกับจำนวนเงินที่นำมาลงหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละคน

– แบบ สสช.1 จำนวน 1 ฉบับ

– แผนที่แสดงที่ตั้งสำนักงานและสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียง

– สำเนาบัตรประจำตัวของกรรมการทุกคน

– สำเนาหลักการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี)

2.2 ห้างหุ้นส่วนจำกัด

– รายชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้ลงนาม และผูกพันห้างหุ้นส่วนจำกัด

– จำนวนเงินทุนจดทะเบียน

– สถานที่ตั้งต้องระบุชัดเจน ละเอียดครบถ้วน

– หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ประกอบกิจการ

– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการและสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง

 

จดบริษัทด้วยตนเอง VS จ้างสำนักงานบัญชีจด

แม้ว่าผู้ที่ต้องการจดทะเบียนบริษัทจะรู้ข้อมูลขั้นตอนในการขอจดบริษัทด้วยตนเองแล้ว แต่ในข้อมูลนั้นๆ ยังมีรายละเอียดยิบย่อยเล็กๆ น้อยๆ โดยเฉพาะเรื่องของเอกสาร ที่ผู้ขอจดทะเบียนบริษัทยังต้องทำความเข้าใจอีกค่อนข้างมาก

ดังนั้น จะถือเป็นเรื่องที่ดีมากหากใครมีเวลา ก็สามารถศึกษาด้วยตนเองได้ไม่ยาก เพราะมีช่องทางในการหาข้อมูลอีกมากมาย ทั้งในรูปแบบบทความและคลิปสอนแบบละเอียดยิ่งขึ้น จะสามารถช่วยให้การจดบริษัทด้วยตนเองได้ง่ายขึ้น

แต่อีกมุมหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลา ต้องการความสะดวกและประหยัดเวลา รวมถึงลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นหากจดทะเบียนด้วยตนเอง การเลือกใช้บริการรับจดทะเบียนบริษัทจากสำนักงานบัญชีที่มีประสบการณ์ ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการจดทะเบียนบริษัทค่ะ