ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

รายได้แบบไหน ที่คลินิกทันตกรรมต้องจด VAT

รายได้ที่คลินิกทันตกรรมต้องจด VAT

อย่างที่ทราบกันดีว่าคลินิกทันตกรรม จัดเป็นธุรกิจที่ให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาล จึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แต่ปัญหาที่ตามมาคือ เมื่อผู้เข้ารับบริการมีความประสงค์ให้คลินิกทันตกรรมออกใบกำกับภาษีให้ คลินิกจะไม่มีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษีให้ได้ เพราะเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี หากคลินิกมีการออกใบกำกับภาษีให้กับคนไข้ จะถือว่าเป็นเอกสารปลอมไม่สามารถนำมาใช้ได้ แต่ออกเป็นใบเสร็จรับเงินได้ หรือในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายต้องซื้อของเข้าคลินิก จากบริษัทที่จดทะเบียน VAT ก็ไม่สามารถนำภาษีซื้อมาหักลบจากภาษีขายได้

ดังนั้น หากเจ้าของคลินิกทันตกรรมมีความประสงค์จะจด VAT ก็สามารถใช้บริการจด VAT จากสำนักงานบัญชีได้ เฉพาะเมื่อมีผลประกอบการจากการประกอบธุรกิจคลินิกทันตกรรมตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น

โดยต้องตรวจเช็กให้ดีก่อนว่า รายรับแบบไหนบ้างต้องนำมารวมเป็นรายได้เพื่อยื่นขอจด VAT และรายรับลักษณะไหนได้รับการยกเว้นบ้าง ดังนี้

 

รายรับของคลินิกทันตกรรม แบบไหน “ไม่ต้องจดทะเบียน VAT”

เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่า การให้บริการรักษาพยาบาลของ “สถานพยาบาล” ทั้งราชการและเอกชนได้รับยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียน VAT ซึ่งตามความหมายของ “สถานพยาบาล” นั้น หมายความถึงสถานที่รวมถึงยานพาหนะที่จัดไว้เพื่อการประกอบโรคศิลปะ ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และประกอบวิชาชีพทันตกรรม

ด้วยเหตุนี้ คลินิกทันตกรรมที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ “สถานพยาบาล” จึงจัดว่าเป็นธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียน VAT แม้ว่าจะมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทก็ตาม ซึ่งพอสรุปได้ว่า

“คลินิกทันตกรรมที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ “สถานพยาบาล” และมีรายได้จากการให้บริการทำฟัน จัดฟัน รักษารากฟัน เป็นต้น ได้รับยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียน VAT”

โดยจะเห็นได้ว่ากฎหมายได้ยกเว้นเฉพาะคลินิกที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล และมีรายได้จากการให้บริการรักษาพยาบาลเท่านั้น ที่ไม่ต้องนำมารวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณจดทะเบียน VAT แต่รายได้จากธุรกิจคลินิกทันตกรรม ยังต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน

คือรายได้จากการให้บริการ และรายได้จากการจำหน่ายสินค้า ถ้าหากคลินิกทันตกรรมมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าในคลินิก หรือรายได้อื่นๆ ที่ไม่เข้าข่ายค่ารักษาพยาบาล เกินกว่า 1.8 ล้านบาท จะต้องนำมานับรวมเป็นรายได้เพื่อจดทะเบียน VAT นั่นเอง

 

รายรับของคลินิกทันตกรรม แบบไหน “ต้องจด VAT”

กรณีคลินิกทันตกรรมมีรายได้ที่ไม่ได้มาจากการให้บริการรักษาพยาบาล เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังสามารถแยกรายละเอียดรายรับต่างๆ ที่ต้องนำมาเป็นรายได้เพื่อคำนวณจดทะเบียน VAT ได้ดังนี้

1.ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ “สถานพยาบาล” นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว รายได้ทั้งหมดที่ได้รับถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) และเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

2.จำหน่ายอุปกรณ์ดูแลรักษาฟัน เช่น ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ขี้ผึ้งสำหรับจัดฟัน ไหมขัดฟัน (Dental floss) เข็มร้อยไหมขัดฟัน (Floss threader)

3.รายได้จากการออกไปปฏิบัตินอกคลินิก (หน่วยบริการเคลื่อนที่) เช่น ออกไปเคลือบฟลูออไรด์ เคลือบหลุมร่องฟัน  (Sealant) นอกสถานที่ ซึ่งปกติแล้วรายได้จากคลินิกทันตกรรมที่ได้ยกเว้น VAT จะต้องเป็นการให้บริการภายในสถานที่ที่มีการขออนุญาตประกอบสถานพยาบาลอย่างถูกต้องเท่านั้น

หากมีการออกไปให้บริการนอกคลินิก ลักษณะนี้เป็นรายได้ที่ไม่ได้รับการยกเว้น VAT ดังนั้น ควรแยกออกมาเป็นอีกบริษัทจะทำให้จัดการเรื่องภาษีและบัญชีได้ง่ายกว่า

4.ค่าเช่าสถานที่ กรณีทันตแพทย์หรือเจ้าของคลินิกทันตกรรม มีรายได้จากการให้เช่าคลินิกของตนเองเพื่อใช้รักษาพยาบาล รายได้ในส่วนนี้ให้นำมานับรวมเป็นรายได้ ถ้าเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียน VAT

5.คลินิกทำสัญญาให้แพทย์มาใช้อุปกรณ์ในการรักษา และได้รับค่าใช้อุปกรณ์เป็นส่วนแบ่งจากค่ารักษา เช่น จ้างแพทย์พาร์ทไทม์มาให้บริการที่คลินิกของตนเอง และมีการทำสัญญาจ่ายค่าตอบแทนของทันตแพทย์ พร้อมระบุว่า ให้ทันตแพทย์เข้ามาใช้บริการอุปกรณ์และสถานที่ของคลินิก รายได้นี้จัดอยู่ในประเภทรายได้ของคลินิกในส่วนของค่าบริการพื้นที่และอุปกรณ์ ต้องนับรวมเป็นรายได้ที่หากเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียน VAT

6.จำหน่ายชุดตรวจโควิด หากคลินิกทันตกรรมมีการนำชุดตรวจโควิดเข้ามาจำหน่ายในคลินิก ถือเป็นการขายสินค้า ไม่ใช่การให้บริการรักษาพยาบาลที่ได้รับยกเว้น VAT จึงต้องนำไปรวมเป็นรายได้เพื่อจดทะเบียน VAT หากเกิน 1.8 ล้านบาท

7.ให้บริการพื้นที่ โดยให้คนมาใช้สถานที่หน้าคลินิก หากคลินิกทันตกรรมมีรายรับจากการให้คนมาเช่าหน้าคลินิกจำหน่ายสินค้า การจำหน่ายสินค้าต่างๆ นี้ ถือเป็นรายได้ที่อยู่ในข้อบังคับของภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องนำมานับรวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณจดทะเบียน VAT

 

ทั้งนี้ เมื่อมีรายได้ดังที่กล่าวมาเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องไปจดทะเบียน VAT ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีรายรับเกิน 1.8 ล้านบาท พร้อมนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกๆ เดือน นับตั้งแต่วันที่ยื่นจดทะเบียน VAT เป็นต้นไป (อ่านราละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความ “เปิดคลินิกทำฟัน จำเป็นต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่”