ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

เทคนิคการจัดการ… ภาษีมูลค่าเพิ่มร้านทอง

ภาษีมูลค่าเพิ่มร้านทอง

ภาษีมูลค่าเพิ่มร้านทอง จะเกิดขึ้นเมื่อกิจการร้านทองมีเงินได้จากการขายสินค้า หรือให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี และต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่กรมสรรพากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีเงินได้เกิน 1.8 ล้านบาท 

โดยการนับมูลค่าฐานภาษีจากการขายทองรูปพรรณ เพื่อจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของร้านทองนั้น จะต้องนับเงินได้ทั้งจำนวนที่ได้รับ ไม่ใช่นับจากผลต่างหรือค่ากำเหน็จ เนื่องจากผลต่างหรือค่ากำเหน็จเป็นฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเท่านั้น ซึ่งวิธีการคำนวณ ภาษีมูลค่าเพิ่มร้านทอง สามารถแยกย่อยได้ดังนี้

หลักการคำนวณภาษีร้านทองจากฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม 

การขายทองรูปพรรณเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มร้านทอง จากฐานภาษีที่แตกต่างจากกิจการประเภทอื่น ซึ่งหากกิจการร้านทองประกอบธุรกิจหลายอย่าง จะทำให้มีฐานภาษีมูลค่าเพิ่มที่แตกต่างกัน ดังนี้

1.ขายทองรูปพรรณ

ขายทองรูปพรรณ การขายทองรูปพรรณเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากผลต่างระหว่างราคาขายทองรูปพรรณรวมค่ากำเหน็จ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หักด้วยราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศในแต่ละวัน 

สูตรคือ  (ราคาขายทองรูปพรรณรวมค่ากำเหน็จ – ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศ) x 7% = VAT

2.ขายทองแท่ง

ขายทองคำแท่ง จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หากปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ซึ่งมีเงื่อนไขดังนี้

– ต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

– ต้องเป็นการขายทองคำแท่งที่ยังไม่ได้ประกอบขึ้นเป็นทองรูปพรรณ

– ต้องแจ้งการประกอบกิจการค้าทองคำต่ออธิบดีกรมสรรพากร (ยื่นแบบ ภ.พ.01.3)

– ทองคำแท่งต้องมีน้ำหนักเนื้อทองไม่น้อยกว่าร้อยละ 96.5

– ผู้ขายต้องเป็นสมาชิกของสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการค้าทองคำ หรืออัญมณี สมาคมใดสมาคมหนึ่ง

3.การขายฝาก

การขายฝาก รายได้จากการขายฝาก คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 2 แบบ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในการทำสัญญาขายฝาก คือ

– กรณีมีการกำหนดราคาขายฝากไว้ในสัญญาขายฝาก สูตรคือ (มูลค่าสินไถ่ตามสัญญา – ราคาขายฝาก) x 7% = VAT

– กรณีไม่มีกำหนดราคาขายฝากไว้ในสัญญาขายฝาก สูตรคือ (มูลค่าสินไถ่ตามสัญญา – (มูลค่าสินไถ่ตามสัญญา x 85%)) x 7% = VAT

ทั้งนี้ การขายฝากต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการขายฝากทองคำที่ได้รับสิทธิคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากผลต่างมูลค่าสินไถ่ ดังนี้

– ต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

– ต้องมีใบอนุญาตค้าของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการค้าของเก่า

– ต้องรับขายฝากทองรูปพรรณ

4.การขายทองรูปพรรณเก่า

การขายทองรูปพรรณเก่า การขายทองรูปพรรณต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับการขายทองรูปพรรณใหม่

5.การขายสินค้าอื่น และการให้บริการ

การขายสินค้าอื่น และการให้บริการ ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานภาษีทั่วไป สูตรคือ ฐานภาษี x 7% = VAT

 

การจัดทำใบกำกับภาษีสำหรับ ภาษีมูลค่าเพิ่มร้านทอง

สำหรับร้านทองที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มร้านทองแล้ว จะต้องอออกใบกำกับภาษีเมื่อกิจการร้านทองนำทองรูปพรรณเก่าไปแลกทองใหม่กับกิจการร้านทองที่รับซื้อ ซึ่งจะถือว่าเป็นการขายทองรูปพรรณเก่า ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องออกใบเสร็จรับเงิน หรือใบรับให้แก่กิจการร้านทองที่รับซื้อ 

โดยสามารถออกใบกำกับภาษีได้ 2 รูปแบบ คือ

1.ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป สำหรับร้านทองจะต้องระบุข้อความดังต่อไปนี้ไว้ในใบกำกับภาษี 

– ราคาขายทองรูปพรรณซึ่งรวมรวมค่ากำเหน็จ

– ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศ

– ผลต่างระว่างราคาขายกับราคารับซื้อคืน

– จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม

2.ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ของกิจการร้านทอง จะต้องระบุข้อความดังต่อไปนี้ไว้ในใบกำกับภาษี 

– ราคาขายทองรูปพรรณซึ่งรวมค่ากำเหน็จ

– ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศ

– ผลต่างระหว่างราคาขายกับราคารับซื้อคืน

จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ กิจการร้านทองมีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ หากเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีก หรือการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก โดยเป็นกิจการค้าปลีกที่ต้องมีลักษณะหรือเงื่อนไขดังต่อไปนี้

– เป็นการขายสินค้าที่ผู้ขายทราบโดยชัดเจนว่าเป็นการขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง และได้ขายในปริมาณซึ่งตามปกติวิสัยของผู้บริโภคนั้นจะนำสินค้าไปบริโภค หรือใช้สอยโดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ

– การให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก

– สำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการทุกครั้งที่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเรียกร้องให้ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป กิจการร้านทองต้องจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษี (แบบเต็มรูป) พร้อมทั้งมอบใบกำกับภาษีดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามที่ร้องขอ

ในกรณีที่มีการออกใบรับด้วยเครื่องบันทึกการเก็บในใบกำกับภาษี ต้องมีหมายเลขลำดับของใบรับที่ออกโดยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน ส่วนถ้าหากใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินออกใบกำกับภาษีด้วย ไม่ต้องระบุหมายเลขลำดับของใบรับ แต่ต้องมีเลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงิน (รายละเอียดการจัดทำใบกำกับภาษี ใบกำกับภาษี แบบเต็มรูป VS อย่างย่อ ใช้หักภาษีต่างกันอย่างไร”)

 

การนำใบกำกับภาษีมาใช้ประโยชน์ด้านภาษีซื้อ 

หากกิจการร้านทองประกอบธุรกิจหลายประเภท ซึ่งมีทั้งรายได้ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้านทอง และที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้านทอง สามารถนำภาษีซื้อมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ โดยจะต้องเฉลี่ยภาษีซื้อตามข้อเท็จจริงของการประกอบกิจการ ซึ่งมีการเฉลี่ยภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์ดังนี้ 

1.ภาษีซื้อของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยตรง ให้ถือเป็นภาษีซื้อทั้งจำนวนของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

2.ภาษีซื้อของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยตรง ไม่นำภาษีซื้อทั้งจำนวนไปหักออกจากภาษีขาย แต่ให้นำไปรวมคำนวณเป็นมูลค่าต้นทุนทรัพย์สินหรือรายจ่ายของกิจการ

3.ภาษีซื้อที่ใช้ร่วมกันในกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของแต่ละกิจการ 

 

สรุป

เนื่องจากกิจการร้านทองมีการจำหน่ายสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับทองหลายรูปแบบ ทั้งขายทองรูปพรรณ ทองแท่ง ทองรูปพรรณเก่า การฝากขาย และการขายสินค้าอื่นๆ และบริการ เป็นต้น

ดังนั้น กิจการจำเป็นต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มร้านทองแตกต่างกันไป ตามประเภทการขายและบริการที่เกิดขึ้นของกิจการร้านทองนั้นๆ เพื่อนำมาลงรายการบัญชีได้ถูกต้อง และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มได้ไม่ผิดพลาด ซึ่งอาจใช้บริการรับทำบัญชีจากสำนักงานบัญชีให้ดูแลให้ได้ เพื่อลดภาระในเรื่องของการทำบัญชีลง และได้คำปรึกษาในเรื่องของการจัดทำเอกสารต่างๆ ที่จำเป็นต่อกิจการร้านทองอีกด้วย