ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

แก้กฎหมาย บริษัทจำกัด ธุรกิจเปิดใหม่ควรจดบริษัทหรือไม่

บริษัทจำกัด

ในเมื่อโลกยังกว้างใหญ่ การดำเนินธุรกิจก็ต้องมีวันมาถึงจุดที่ต้องขยับขยายให้ครอบคลุมทุกความต้องการของผู้บริโภคเช่นกัน ซึ่งหมายความว่าต้องมีเงินทุนเพิ่ม จ้างแรงงานเข้ามาซัปพอร์ตธุรกิจของตนเองเพิ่ม ไม่สามารถทำงานเพียงคนเดียวได้อีกต่อไป 

ด้วยเหตุนี้ เจ้าของธุรกิจอาจถึงเวลาที่ต้องทบทวนเรื่องการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับแผนธุรกิจที่วางไว้ ตลอดจนเพื่อให้ประหยัดภาษีเพิ่มขึ้น เนื่องจากธุรกิจที่เสียภาษีในนามบุคคลธรรมดา จะคำนวณภาษีจากรายได้ตลอดทั้งปี ในอัตราภาษีสูงสุด 35% แต่เมื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จะคำนวณเสียภาษีจากกำไรสุทธิในอัตราสูงสุด 20% 

จากนั้นพิจารณาในเรื่องประเภทที่ควรจดทะเบียนบริษัท ว่าธุรกิจของคุณควรจดทะเบียนนิติบุคคลรูปแบบไหน เพราะส่วนใหญ่จะนิยมจดอยู่ 3 รูปแบบ คือ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล โดยบริษัทจำกัดเป็นรูปแบบที่มีผู้ประกอบการจดทะเบียนมากที่สุด 

และล่าสุดได้มีการแก้กฎหมายการจดบริษัทจำกัดใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 จะต่างจากเดิมอย่างไร ควรจดบริษัทจำกัดหรือไม่ หรือเลือกจดทะเบียนนิติบุคคลรูปแบบอื่นจะเหมาะกับธุรกิจของตนเองมากกว่า ซึ่งสามารอธิบายรายละเอียดได้ดังนี้

 

กฎหมายใหม่จัดตั้ง บริษัทจำกัด  

จากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ.2565 เรื่องแก้กฎหมาย บริษัทจำกัด และปรับปรุงข้อกำหนดให้มีความสมัยใหม่ขึ้น มีสาระสำคัญดังนี้

1.การยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทสามารถยื่น ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทที่สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่หรือตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด จากเดิมสำนักงานใหญ่อยู่ในจังหวัดใด ต้องจดทะเบียน ณ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนั้นเท่านั้น

2.รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนด ลด หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน การขอตรวจเอกสาร การขอสำเนาเอกสารพร้อมคำรับรอง และค่าธรรมเนียมอื่นที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนและบริษัท หรือกำหนดค่าธรรมเนียมให้แตกต่างกันตามรูปแบบการทำธุรกรรมก็ได้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการผ่านระบบสารสนเทศมากขึ้น

3.บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป จะเริ่มก่อการและตั้งเป็นบริษัทจำกัดได้ จากเดิมต้อง 3 คนขึ้นไป

4.หนังสือบริคณห์สนธิที่จดทะเบียนไว้ หากไม่ดำเนินการจดทะเบียนบริษัทจำกัดภายใน 3 ปีสิ้นผลทันที จากเดิมที่ไม่มีอายุของการสิ้นผล ทำให้บุคคลอื่นไม่สามารถใช้ชื่อบริษัทที่ปรากฏในหนังสือบริคณห์สนธิที่จดทะเบียนไว้ได้

5.บริษัทใดมีตราประทับต้องประทับตราในใบหุ้นทุกใบ

6.ให้ธุรกิจนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับการประชุมกรรมการได้เพิ่มขึ้นอีกวิธีหนึ่ง นอกจากต้องมาประชุม ณ สถานที่นัดประชุมเท่านั้น

7.ยกเลิกการนำหนังสือเชิญประชุมไปลงประกาศในหนังสือพิมพ์ ยกเว้นในกรณีบริษัทจำกัดมีหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือที่ยังต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์ หรือในสื่ออิเล็กทรอนิกส์อยู่

8.ให้บริษัทจำกัดจ่ายเงินปันผลให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ประชุมใหญ่ หรือกรรมการลงมติเพื่อคุ้มครองผู้ถือหุ้นรายย่อย

9.ปรับปรุงหลักการเกี่ยวกับการควบบริษัทจากเดิม ก + ข = ค เท่านั้น ต่อไปกำหนดให้บริษัทสามารถควบรวมกันได้ใน 2 ลักษณะ คือ

– ควบรวมบริษัทแล้วเกิดเป็นบริษัทใหม่ (ก + ข = ค)

– ควบรวมบริษัทแล้วเหลืออยู่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง (ก + ข = ก หรือ ข) 

 

นิติบุคคลรูปแบบอื่นๆ แบบไหนเหมาะกับธุรกิจของคุณ

แต่แนวทางการเลือกประเภทการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ยังมีที่นิยมอีก 2 ประเภท ซึ่งสามารถอธิบายความแตกต่างของทั้ง 3 ประเภทได้ดังนี้

1.บริษัทจำกัด

– ต้องมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป

– แบ่งทุนออกเป็นหุ้นละเท่าๆ กัน หุ้นจะต้องมีราคาไม่น้อยกว่าหุ้นละ 5 บาท ต่อ 1 หุ้น หรือรวมแล้วทุนขั้นต่ำ 10 บาท

– ผู้ถือหุ้นทุกคนจะรับผิดชอบในหนี้สินกิจการ เฉพาะในส่วนที่ต้องชำระเงินทุนตามค่าหุ้นที่ได้จดทะเบียนไว้เท่านั้น หากชำระครบแล้ว ผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้สินที่เกิดขึ้นในกิจการอีก

– บริหารงานโดยคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้ง

2.ห้างหุ้นส่วนจำกัด

– ต้องมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ร่วมกันลงทุนและดำเนินกิจการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งผลกำไรที่ได้จากการดำเนินงาน 

– ไม่มีกำหนดทุนขั้นต่ำ

– ผู้ถือหุ้นมี 2 แบบคือ

1) หุ้นส่วนประเภท “จำกัด” ความรับผิด คือรับผิดชอบตามเงินลงทุนของตนเองที่ลงในห้างหุ้นส่วนเท่านั้น โดยทุนที่นำมาลงทุนต้องเป็นเงินหรือทรัพย์สิน จะเป็นแรงงานไม่ได้ และจะไม่มีสิทธิ์เข้าจัดการงาน หรือตัดสินใจในกิจการของห้างหุ้นส่วน แต่มีสิทธิ์สอบถามการดำเนินงานของกิจการ ออกความเห็น และรับเป็นที่ปรึกษาได้

2) หุ้นส่วนประเภท “ไม่จำกัด” ความรับผิด คือรับผิดชอบหนี้สินร่วมกันทั้งหมดที่เกิดขึ้นในห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าจะต้องมีหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดชอบอย่างน้อย 1 คน ในห้างหุ้นส่วนจำกัด (หุ้นส่วนผู้จัดการจะต้องเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด)

โดยหุ้นส่วนประเภทนี้มีสิทธิ์เข้าจัดการและตัดสินใจต่างๆ ในกิจการได้อย่างเต็มที่ และทุนที่นำมาลงทุนเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงานก็ได้

3.ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล

– ต้องมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป

– ไม่มีกำหนดทุนขั้นต่ำ

– ต้องร่วมกันรับผิดชอบหนี้สินของกิจการอย่างไม่จำกัด แต่หุ้นส่วนทุกคนมีสิทธิ์จัดการกับกิจการ และแบ่งปันกำไรจากกิจการได้  

– ต้องใช้คำว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ประกอบหน้าชื่อห้างเสมอ 

– ต้องมีการระบุชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการไว้อย่างชัดเจน อาจมีคนเดียวหรือหลายคนได้ แต่หุ้นส่วนผู้จัดการจะเป็นผู้มีอำนาจลงนามผูกพันห้างหุ้นส่วน และทำธุรกรรมต่างๆ ในนามห้างหุ้นส่วนได้

สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากบทความ “บริษัทจำกัด – ห้างหุ้นส่วนจำกัด – ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” ต่างกัน! จดทะเบียนนิติบุคคล แบบไหนดี

 

สรุป…เลือกจดทะเบียนนิติบุคคลในแบบที่ลงตัว  

เนื่องจากธุรกิจในนามนิติบุคคลที่นิยมทั้ง 3 ประเภท คือ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด และห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล มีลักษณะคล้ายกันในบางส่วนและต่างกันบ้างในบ้างข้อ ดังนั้น เจ้าของธุรกิจควรวิเคราะห์ธุรกิจของตนเองว่าเข้าข่ายรูปแบบไหน เช่น มีหุ้นส่วนกี่คน มีเงินทุนเท่าไร ต้องการเป็นหุ้นส่วนลักษณะไหน ลงทุนเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงาน และการมีอำนาจในการบริหารจัดการเป็นแบบไหน เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเลือกจดบริษัทเป็นนิติบุคคลที่เหมาะกับธุรกิจของคุณที่สุด