ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

วิธีการ… เปลี่ยนจากห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัท

เปลี่ยนจากห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัท

อย่างที่ทราบกันดีว่า ธุรกิจที่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะนิยมเลือกรูปแบบ “บริษัทจำกัด” มากที่สุด และรองลงมาคือ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” ดังนั้น สำหรับกิจการที่ปัจจุบันจดทะเบียนในรูปแบบห้างหุ้นส่วนจำกัด แต่ ต้องการ เปลี่ยนจากห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัท อาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ง่ายเสียทีเดียว

กิจการส่วนใหญ่ที่ต้องการ เปลี่ยนจากห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัท มักจะเลือกใช้บริการสำนักงานบัญชีให้ทำเรื่องแปรสภาพจากห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัทจำกัดให้มากกว่า เนื่องจากการจดเปลี่ยนแปลงสภาพนี้ไม่สามารถดำเนินการผ่านออนไลน์ได้ ต้องไปที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเท่านั้น ซึ่งค่อนข้างจะเป็นการสิ้นเปลืองเวลาของกิจการเป็นอย่างมากหากต้องดำเนินการเอง

แต่ในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนจากห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัทจำกัดด้วยตนเอง สามารถศึกษาข้อมูล เอกสาร และวิธีการดำเนินการดังต่อไปนี้ให้ดีได้เลย

รู้ได้อย่างไรว่าถึงเวลา เปลี่ยนจากห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัท แล้ว

ก่อนอื่นกิจการต้องทราบก่อนว่า สมควรแก่เวลาที่จะเปลี่ยนจากห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัทจำกัดแล้วหรือยังเนื่องจากเงื่อนไขข้อกำหนดของรูปแบบบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นแตกต่างกัน ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

1.บริษัทจำกัด มีเงื่อนไขสำหรับผู้ที่ต้องการจดทะเบียนนิติบุคคลแบบ “บริษัทจำกัด” คือ

– ต้องมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป (กฎหมายใหม่ ผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีผลบังใช้วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566)

– แบ่งทุนออกเป็นหุ้นละเท่าๆ กัน หุ้นจะต้องมีราคาไม่น้อยกว่าหุ้นละ 5 บาท ต่อ 1 หุ้น หรือรวมแล้วทุนขั้นต่ำ 10 บาท

– ผู้ถือหุ้นทุกคนจะรับผิดชอบในหนี้สินกิจการ เฉพาะในส่วนที่ต้องชำระเงินทุนตามค่าหุ้นที่ได้จดทะเบียนไว้เท่านั้น หากชำระครบแล้ว ผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้สินที่เกิดขึ้นในกิจการอีก

– บริหารงานโดยคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้ง

2.ห้างหุ้นส่วนจำกัด มีเงื่อนไขสำหรับผู้ที่ต้องการจดทะเบียนนิติบุคคลแบบ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” คือ

– ต้องมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป

– ไม่มีกำหนดทุนขั้นต่ำ

– ผู้ถือหุ้นมี 2 แบบคือ

1) “จำกัด” ความรับผิด คือรับผิดชอบตามเงินลงทุนของตนเอง แต่จะไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจในกิจการ มีสิทธิ์เพียงสอบถามการดำเนินงานของกิจการได้

2) “ไม่จำกัด” ความรับผิด คือรับผิดชอบหนี้สินทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากกิจการ โดยมีสิทธิ์ตัดสินใจต่างๆ ในกิจการได้อย่างเต็มที่ (หุ้นส่วนผู้จัดการจะต้องเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด)

ทั้งนี้ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมความแตกต่างของทั้ง 2 ประเภทได้จากบทความ “บริษัทจำกัด – ห้างหุ้นส่วนจำกัด – ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” ต่างกัน! จดทะเบียนนิติบุคคล แบบไหนดี

ขั้นตอนการ เปลี่ยนจากห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัท

1.หาหุ้นส่วนให้ครบ 3 คน เนื่องจากห้างหุ้นส่วนมีผู้ถือหุ้นแค่ 2 คน แต่เมื่อแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด จะต้องมีหุ้นส่วน 3 คนขึ้นไป (อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป สามารถจดเป็นบริษัทจำกัดโดยใช้ผู้ถือหุ้น 2 คนได้แล้ว)

2.จากนั้นทำหนังสือบันทึกข้อตกลงยินยอมว่าจะมีการแปรสภาพจากห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัทจำกัด โดยให้ไปยื่นหนังสือยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนให้นายทะเบียนทราบที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ หรือสามารถทำเรื่องผ้านระบบกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแบบออนไลน์ได้เลย หรือเรียกว่าระบบ e-Registration ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนยินยอม โดยต้องแนบสำเนาบันทึกข้อตกลงยินยอมให้เปลี่ยนจากห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัทจำกัดด้วย

3.เสร็จแล้วจะต้องทำการประกาศหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นว่ามีการเปลี่ยนจากห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัท พร้อมกับทำหนังสือบอกล่าวไปยังเจ้าหนี้และคู่ค้าของกิจการ เพื่อแจ้งให้ทราบว่าจะมีการแปรสภาพจากห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัทจำกัด โดยใช้เวลารอประมาณ 30 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเจ้าหนี้หรือคู่ค้ารายไหนคัดค้าน

4.หากไม่มีใครคัดค้าน ให้จัดการประชุมผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนเพื่อให้ความยินยอม และดำเนินการเหมือนการจดบริษัทจำกัด (สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ จดบริษัทด้วยตนเอง ทำได้ง่ายนิดเดียว…จริงหรือ?)

5.หุ้นส่วนผู้จัดการเดิมต้องส่งมอบกิจการ ทรัพย์สิน บัญชี เอกสารและหลักฐานต่างๆ ของห้างหุ้นส่วนให้แก่กรรมการบริษัทภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้ให้ความยินยอมและดำเนินการในเรื่องต่างๆ เสร็จสิ้นแล้ว

6.คณะกรรมการไปยื่นคำขอจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ได้ดำเนินการครบถ้วนแล้ว

ทั้งนี้ หลังจากจดเปลี่ยนจากห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัทแล้ว กิจการใดมีการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และประกันสังคมไว้ ต้องไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงการแปรสภาพจากห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัทจำกัดที่สรรพากรและประกันสังคมด้วย

โดยสรรพากรและประกันสังคม จะจดเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เสร็จภายใน 15 วัน นับจากจดเปลี่ยนแปลงที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

 

ข้อมูลและเอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นเปลี่ยนจากห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัท

1.ข้อมูลที่จำเป็นต้องเตรียมไว้ให้พร้อมเพื่อยื่นเปลี่ยนจากห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัท

– ชื่อของบริษัท

– ผู้ถือหุ้น 2 คน

– ชื่อ ที่อยู่ อายุของกรรมการ

– ชื่อ ที่อยู่ อาชีพ สัญชาติ และจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละคน

– ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ (ตั้งอยู่ ณ จังหวัดใด)

– วัตถุประสงค์ของบริษัทที่จะประกอบกิจการค้า

– ข้อบังคับ (ถ้ามี)

– ทุนจดทะเบียน

– จำนวนหุ้นที่เรียกชำระแล้ว อย่างน้อยขั้นต่ำ 25% ของทุนจดทะเบียน หรือชำระเต็มจำนวน

– รายชื่อหรือจำนวนกรรมการที่มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัท (อำนาจกรรมการ)

– ชื่อ เลขทะเบียนผู้สอบบัญชีรับอนุญาตพร้อมค่าตอบแทน ต้องระบุชื่อ สกุล และเลขผู้สอบบัญชี

– ตราสำคัญ ซึ่งยังจดบริษัทโดยมีหรือไม่มีตราประทับได้ (หลักเกณฑ์การกำหนดดวงตรา)

2.เอกสารที่ต้องใช้ยื่นเปลี่ยนจากห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัท

– สำเนารายชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนในการประชุมให้ความยินยอมและดำเนินการแปรสภาพพร้อมลายมือชื่อ

– สำเนารายงานการประชุมของผู้เป็นหุ้นส่วนในการให้ความยินยอมและดำเนินการแปรสภาพ

– สำเนาข้อบังคับ ผนึกอากร 200 บาท (ถ้ามี)

– สำเนาหลักฐานการชำระค่าหุ้น โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน เอกสารหลักฐานการให้ใช้สิทธิ์ต่างๆ (ถ้ามี)

– หนังสือพิมพ์ที่ลงพิมพ์บอกกล่าวการเปลี่ยนจากห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัทจำกัด

– สำเนาหนังสือบอกกล่าวเจ้าหนี้ (ถ้ามี)

– สำเนาหนังสือยืนยันว่าห้างหุ้นส่วนไม่มีเจ้าหนี้หรือเจ้าหนี้ไม่คัดค้าน ซึ่งลงลายมือชื่อโดยกรรมการตามอำนาจที่ขอจดทะเบียน

– หนังสือยืนยันการรับมอบกิจการ ทรัพย์สิน บัญชี เอกสารและหลักฐานต่างๆ ของห้างหุ้นส่วนที่แปรสภาพ ซึ่งลงลายมือชื่อโดยกรรมการตามอำนาจที่ขอจดทะเบียน

– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนกรรมการทุกคน

– สถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียง วาดแผนที่ให้เรียบร้อย

– ข้อมูล E-mail เบอร์โทรศัพท์ของกรรมการที่เป็นผู้ลงนาม และผู้ถือหุ้นทุนคน

โดยสำเนาเอกสารประกอบคำขอจดทะเบียนทุกฉบับ ต้องให้ผู้ขอจดทะเบียนอย่างน้อย 1 คน รับรองความถูกต้อง ยกเว้นสำเนาบัตรประจำตัวหรือหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อผู้ขอจดทะเบียน ให้ผู้เป็นเจ้าของบัตรหรือผู้ขอจดทะเบียนอย่างน้อย 1 คน เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้อง (เช็กเอกสารแบบพิมพ์เพิ่มเติมได้ที่นี่)

3.เอกสารที่ต้องเตรียมความพร้อมด้านงานของกิจการ

– แก้ไขข้อมูลเกี่ยวกับชื่อ จากห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นบริษัทจำกัด

– แก้ไขบัญชีธนาคาร

– แจ้งเปลี่ยนห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัทให้กับ Suppliers ทุกเจ้า เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องการใช้ภาษีซื้อไม่ได้

– เปลี่ยนข้อมูลในบิลค่าน้ำ ค่าไฟ บิลค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่กิจการใช้ประจำ

– แจ้งแก้ไขตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่ามีการเปลี่ยนเลขนิติบุคคล 13 หลัก ใช้เป็นเลขนิติบุคคลที่ได้รับมาใหม่แทน รวมถึงเลขผู้เสียภาษีด้วย

 

สรุป

จะเห็นได้ว่าแค่เปลี่ยนจากห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัท เรื่องงานเอกสารต่างๆ ค่อนข้างวุ่นวายเป็นอย่างมาก และการเดินเรื่องแปรสภาพก็หลายขั้นตอน ด้วยเหตุนี้ใครที่กำลังตัดสินใจจะจดทะเบียนนิติบุคคล ควรตรวจสอบรูปแบบประเภทธุรกิจของตนเองให้ดี วางแผนเตรียมความพร้อมตั้งแต่แรก เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างราบรื่น ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ต้องปวดหัวในอนาคต