หากจะพูดถึงหลัก การเสียภาษีร้านวัสดุก่อสร้าง ซึ่งความจริงแล้วคล้ายกับภาษีของธุรกิจค้าขายอื่นๆ ดังนั้น เจ้าของธุรกิจขายวัสดุก่อสร้าง จำเป็นต้องวางแผนก่อนว่า ต้องการทำธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเลือกเสียภาษีเงินได้
เนื่องจากหากเปิดเป็นร้านขายวัสดุก่อสร้างเล็กๆ ดูแลเพียงคนเดียว ให้เลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ถ้ามีผู้ร่วมลงทุน หุ้นส่วน และต้องการทำร้านขายวัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่ มีโอกาสที่จะขยายกิจการ ควรเลือกจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และหลังจากนั้นจะมีภาษีอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องแตกต่างกันไปตามประเภทภาษีเงินได้ที่เจ้าของธุรกิจเลือก ดังนี้
ภาษีเงินได้
การเสียภาษีร้านวัสดุก่อสร้าง สำหรับเจ้าของธุรกิจที่เลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ต้องจัดการภาษีตามหลักการที่ต่างกันดังนี้
1.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เจ้าของร้านขายวัสดุก่อสร้างที่ผู้ประกอบการเป็นบุคคลธรรมดา มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจัดเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 (มาตรา 40(8)) โดยหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60% หรือหักตามจริงโดยต้องมีเอกสารหลักฐานให้ครบ สามารถพิสูจน์ค่าใช้จ่ายได้ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ “เจาะลึก! วางแผน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา”) และการเสียภาษีร้านวัสดุก่อสร้างจะต้องจ่าย 2 ช่วง คือ
– ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ให้นำรายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน ของปีภาษีนั้น มายื่นภาษีช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน ของปีที่มีเงินได้ หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตได้ภายในวันที่ 8 ตุลาคมของทุกปี
– ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) ให้นำรายได้ช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม ของปีภาษี ยื่นภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม ของปีภาษีถัดไป หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตภายในวันที่ 8 เมษายนของปีถัดไป
2.ภาษีเงินได้นิติบุคคล
สำหรับร้านขายวัสดุก่อสร้างที่จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยการเสียภาษีมีดังนี้
1.คำนวณรายได้และรายจ่ายให้ใช้เกณฑ์สิทธิ โดยนำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้ว่ายังไม่ได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชี
2.ฐานภาษี ได้แก่ กำไรสุทธิซึ่งคำนวณได้จากรายได้จากกิจการ หรือเนื่องจกกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ “แนวทางวางแผน ภาษีนิติบุคคล”)
และการเสียภาษีร้านวัสดุก่อสร้างจะต้องจ่าย 2 ช่วงเช่นกัน คือ
– ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) สำหรับรอบครึ่งปี โดยต้องยื่นและชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี
– ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบสิ้นปี โดยต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
รายได้หลักหรือรายได้จากการประกอบกิจการร้านขายวัสดุก่อสร้างคือ รายได้จากการขายวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง ซึ่งทั้งเจ้าของร้านขายวัสดุก่อสร้างในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล หากรายได้เหล่านี้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีเงินได้เกิน 1.8 ล้านบาท ที่กรมสรรพากร
และหลังจากนั้นเมื่อมีการขายวัสดุก่อสร้าง ต้องทำใบกับกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้าทุกครั้ง และจัดทำรายงานภาษีขาย ภาษีซื้อ รายงานสินค้าและวัตถุดิบ พร้อมนำส่งภาษี 7% (ภ.พ.30) ให้แก่กรมสรรพากรทุกวันที่ 15 ของเดือน (ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มได้ที่นี่)
ภาษีธุรกิจเฉพาะ
การเสียภาษีร้านวัสดุก่อสร้างในส่วนของภาษีธุรกิจเฉพาะ จะเกิดขึ้นกรณีที่ร้านขายวัสดุก่อสร้างทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล มีการให้ผู้อื่นยืมเงิน ต้องมีการคำนวณดอกเบี้ยรับแบบธนาคารพาณิชย์ และต้องนำดอกเบี้ยรับดังกล่าวมาเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ถ้าหากการให้กู้ยืมเงินนี้ไม่ได้ทำประจำเป็นปกติ ก็ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ
โดยมีวิธีการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ ให้นำรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ที่ได้รับในเดือนภาษี มาคำนวณภาษีในอัตราร้อยละตามมาตรา 91/6 แห่งประมวลรัษฎากร ผลลัพธ์ที่คำนวณได้จะเป็นภาษีที่ต้องชำระ และจะต้องเสียภาษีให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มอีกร้อยละ 10 ของอัตราภาษีที่จัดเก็บตามประมวลรัษฎากร
และให้เจ้าของร้านขายวัสดุก่อสร้างยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ ภ.ธ.40 พร้อมกับชำระภาษีเป็นรายเดือนทุกเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในท้องที่ที่ร้านขายวัสดุก่อสร้างตั้งอยู่ หรือยื่นแบบแสดงรายการผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรทาง www.rd.go.th
อากรแสตมป์
การเสียภาษีร้านวัสดุก่อสร้างของเจ้าของธุรกิจ ทั้งในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล หากมีการทำสัญญาหรือตราสารที่เข้าลักษณะต่อไปนี้ต้องติดอากรแสตมป์
1.การจ้างทำของ ยกเว้นสัญญาที่ทำขึ้นนอกประเทศไทยและการปฏิบัติตามข้อสัญญานั้นไม่ได้ทำในประเทศไทย ผู้รับจ้างมีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์ 1 บาทต่อจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของเงิน 1,000 บาท แห่งสินจ้างที่กำหนดไว้
2.กู้ยืมเงิน ผู้ให้กู้มีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์ 1 บาทต่อจำนวนเงิน 2,000 บาท หรือเศษของเงิน 2,000 บาท แห่งยอดเงินที่กู้ยืม ค่าอากรตามลักษณะแห่งตราสารนี้ เมื่อคำนวณแล้วถ้าเกิน 10,000 บาท ให้เสีย 10,000 บาท
โดยมีวิธีการเสียภาษีอากรแสตมป์ดังนี้
1) แสตมป์ปิดทับ ปิดแสตมป์ทับกระดาษก่อนกระทำหรือในทันทีที่ทำตราสาร
2) แสตมป์ดุน ใช้กระดาษมีแสตมป์ หรือยื่นตราสารให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับแสตมป์ดุนและชำระเงิน
3) ชำระเป็นตัวเงิน ใช้แบบของและอนุมัติให้เสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน อ.ส.4 ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ โดยแนบตราสารที่ขอเสียอากรไปด้วย และให้ยื่นต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นภาษีสำหรับเจ้าของธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเท่านั้น ที่สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ เมื่อมีการจ่ายเงินให้แก่ พนักงานเป็นเงินเดือน ค่าจ้างแรงงาน เบี้ยเลี้ยง โบนัส เป็นต้น ผู้ประกอบการร้านวัสดุก่อสร้างมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน และนำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด.3 และ/หรือ ภ.ง.ด.53 ภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน
นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ประกอบการร้านวัสดุก่อสร้าง มีการใช้บริการต่างๆ ก็ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด แตกต่างกันตามประเภทเงินที่จ่าย โดยอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร? ทำไมก่อนจดบริษัทไม่เคยเจอ”
สรุป
สุดท้ายแล้วการเสียภาษีร้านวัสดุก่อสร้างสามารถสรุปได้คือ ไม่ว่าเจ้าของร้านขายวัสดุก่อสร้างจะดำเนินกิจการในนามบุคคลธรรมดา หรือจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล การเสียภาษีนั้นแทบไม่ต่างกันเลย จะมีแตกต่างเพียงเรื่องของภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่ต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้นจึงจะสามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ โดยเฉพาะร้านวัสดุก่อสร้างที่มีบริการขนส่ง ค่าบริการรับจัดการขนส่ง เฉพาะที่เป็นการจ่ายเงินจากการให้บริการต้องคํานวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ “บทความ วิธีจัดการรายรับรายจ่าย กับภาษีหัก ณ ที่จ่าย ร้านวัสดุก่อสร้าง”