เชื่อว่าทุกคนย่อมต้องการความมั่นคงในหน้าที่การงาน การดำรงชีวิตที่มีเสถียรภาพ จึงเป็นที่มาให้ผู้คนหลั่งไหลเข้าสู่วงการทำธุรกิจนานาประเภท จับจองแลนด์มาร์กเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง ไม่เว้นแม้แต่อาชีพคุณหมอที่ใครๆ อาจมองว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้สูงลิ่ว แต่ก็มาพร้อมกับภาระอันหนักอึ้งเช่นกัน
ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามีคุณหมอที่หันมาเปิดคลินิกเป็นของตนเองอยู่มากมาย ตัวอย่างเช่นคลินิกทันตกรรม เนื่องจาก “ฟัน” มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของทุกคน จึงทำให้มีทันตแพทย์และผู้ประกอบการทั่วไปสนใจเปิดคลินิกอยู่ไม่น้อย แต่สิ่งที่เจ้าของธุรกิจควรรู้ ก่อนตัดสินใจเปิดคลินิกทันตกรรม คือ
– คลินิกถูกต้องตามมาตรฐานคลินิกทันตกรรม
– ขอใบอนุญาตเปิดคลินิกทันตกรรม
– รู้เรื่องภาษีสำหรับคลินิกทันตกรรม
– ขึ้นทะเบียนลูกจ้างประกันสังคม
– การทำบัญชีสำหรับคลินิกทันตกรรม
โดยรายละเอียดข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดคลินิกทันตกรรมนั้นเรียกว่ามีเยอะมาก และค่อนข้างละเอียดซับซ้อน หากทันตแพทย์หรือใครที่อยากเปิดคลินิกทันตกรรม จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน เพื่อให้การดำเนินกิจการไม่สะดุดตั้งแต่ต้น
คลินิกถูกต้องตามมาตรฐานคลินิกทันตกรรม
สำหรับจุดเริ่มต้นของการทำคลินิกทันตกรรม สถานพยาบาลหรือคลินิกที่ใช้ประกอบกิจการนั้น จะต้องจัดทำให้ถูกต้องตามมาตรฐานคลินิกทันตกรรม ก่อนที่จะขอใบอนุญาตเปิดคลินิกทันตกรรม เพราะหลังจากยื่นขอใบอนุญาตเปิดคลินิกทันตกรรมแล้ว ทางเจ้าหน้าที่จะต้องเข้ามาตรวจความถูกต้องโดยรวมทั้งหมดของคลินิกด้วย
หากมีส่วนหนึ่งส่วนใดไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เจ้าของคลินิกจะต้องปรับแก้ให้ถูกต้องก่อนได้รับอนุญาตให้เปิดคลินิกทันตกรรมได้ ซึ่งโดยหลักๆ แล้วจะต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อสถานพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ประกอบโรคศิลปะในสถานพยาบาล อัตราค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการ และสิทธิผู้ป่วย เช่น
– หน้าร้านต้องมีป้ายชื่อ “คลินิกทันตกรรม” และมีเลขที่ใบอนุญาต ที่ตัวหนังสือเป็นสีม่วง และพื้นหลังเป็นสีขาว
– หน้าร้านต้องแจ้งวันและเวลาเปิดบริการ ให้ชัดเจนตั้งแต่ทางเข้าหน้าร้าน
– หน้าร้านต้องมี “คำประกาศสิทธิผู้ป่วย”
– ด้านในให้มีข้อความ “สอบถามค่ารักษาพยาบาลได้ที่นี่”
– มีแผ่นป้ายแสดงอัตราค่าบริการด้านทันตกรรม ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่ายด้วยตัวอักษรไทย
– มีที่เก็บเวชระเบียนที่มั่นคง ปลอดภัย และค้นหาได้ง่าย
– มีเครื่องเอกซเรย์ฟันที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์
– มียาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น และไม่มียาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพ
และหลักเกณฑ์อื่นๆ ที่คลินิกต้องเตรียมให้พร้อมและถูกต้อง ซึ่งสามารถโหลดจากเว็บไซต์ กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ได้
ขอใบอนุญาตเปิดคลินิกทันตกรรม
หลังจากตระเตรียมทำคลินิกไว้ตรงตามมาตรฐานคลินิกทันตกรรมแล้ว สิ่งที่จำเป็นต่อมาคือการขอใบอนุญาตเปิดคลินิกทันตกรรม ซึ่งถ้าหากเจ้าของคลินิกเป็นบุคคลทั่วไป จำเป็นจะต้องมีหุ้นส่วนที่เป็นทันตแพทย์ มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม เพื่อขอใบอนุญาตเปิดคลินิกทันตกรรมให้ผ่านก่อน จึงจะสามารถดำเนินกิจการได้ โดยมีเงื่อนไขหลักๆ ในการขอใบอนุญาตเปิดคลินิกทันตกรรม เช่น
– คลินิกทันตกรรม จะต้องดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม
– คลินิกทันตกรรมเฉพาะทาง ต้องดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมที่ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติจากทันตแพทยสภาในสาขานั้น
– นิติบุคคล ต้องประทับตราบริษัทที่ลายเซ็นผู้ขอรับอนุญาตในแบบฟอร์มยื่นคำขอ
– หากเป็นคลินิกทันตกรรมที่มีที่ตั้งในเขตกรุงเทพฯ และมีเครื่องเอกซเรย์ ต้องติดต่อกองรังสีและเครื่องมือแพทย์
– คำนำหน้าชื่อ หรือต่อท้ายชื่อคลินิก ต้องประกอบด้วยประเภทและลักษณะของคลินิกที่ขออนุญาต เช่น อมรเทพคลินิกเวชกรรม หรือคลินิกเวชกรรมอมรเทพ
ทั้งนี้ สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนการขอใบอนุญาตเปิดคลินิกทันตกรรมได้จากบทคาม “เปิดคลินิกทันตกรรม… ต้องขอใบอนุญาตด้วยหรือ?”
ภาษีคลินิกทันตกรรม
โดยปกติทันตแพทย์หรือผู้มีรายได้จะต้องมีหน้าที่เสียภาษีอยู่แล้ว เมื่อเปิดคลินิกทันตกรรมเป็นของตนเอง ประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยค้างคืน จะมีภาษีที่เกี่ยวข้องกับรายรับในส่วนนี้เข้ามาเพิ่มด้วย รวมถึงคลินิกทันตกรรมในนามนิติบุคคลก็มีภาษีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอธิบายแยกย่อยได้ดังนี้
– ภาษีเงินได้ สำหรับบุคคลธรรมดามีเงินได้พึงประเมินหลักๆ อยู่ 3 ประเภท คือ เงินได้พึงประเมิน 40(1) 40(2) และ 40(6) โดยคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก “รายได้ทั้งหมด” ส่วนคลินิกทันตกรรมที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก “กำไรสุทธิ”
– ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะมี 2 เงื่อนไข ในการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ รายได้จากการรักษาพยาบาลไม่ต้องรวมเป็นรายได้เพื่อจดภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้าเป็นรายได้จากการขาย เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน หากรายได้ในกลุ่มนี้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วย
– ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คลินิกทันตกรรมรูปแบบนิติบุคคล จะต้องหักเงินไว้ทันทีเมื่อมีการจ่ายเงิน หรือจ่ายค่าบริการตามประเภทและอัตราหักที่สรรพากรกำหนด และจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีที่มีผู้เข้ารับบริการโดยใช้สิทธิ์ประกันสังคม 900 บาท/คน/ปี ทางคลินิกจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 1%
– ภาษีป้าย หากคลินิกทันตกรรมมีการติดป้ายหน้าคลินิก จำเป็นต้องเสียภาษีป้ายด้วย ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ในบทความ “ภาษีทันตกรรมที่ควรรู้ ก่อนตัดสินใจเปิดคลินิก”
ขึ้นทะเบียนลูกจ้างประกันสังคม
แน่นอนว่าเมื่อเปิดคลินิกทันตกรรม จะต้องมีพนักงานประจำที่จ่ายเป็นเงินเดือน เช่น แคชเชียร์ ธุรการ ผู้ช่วยทันตแพทย์ เป็นต้น ดังนั้น เจ้าของคลินิกที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะต้องไปขึ้นทะเบียนนายจ้างกับประกันสังคม และขึ้นทะเบียนลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มจ้างงานที่สำนักงานประกันสังคม
ส่วนคลินิกทันตกรรมที่จดทะเบียนนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว ก็จะถูกขึ้นทะเบียนนายจ้างกับประกันสังคมโดยอัตโนมัติ ซึ่งเมื่อเริ่มมีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป และมีการจ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือน กิจการต้องไปขึ้นทะเบียนลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มจ้างงาน ที่สำนักงานประกันสังคมเช่นเดียวกัน
การทำบัญชีสำหรับคลินิกทันตกรรม
การทำบัญชีถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการทำธุรกิจ แม้ว่าคลินิกทันตกรรมที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กฎหมายจะไม่ได้บังคับให้ต้องทำบัญชีตามมาตรฐานบัญชี และไม่ต้องส่งข้อมูลแก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า แต่เนื่องจากรายรับรายจ่ายค่อนข้างเยอะ เอกสารค่อนข้างมาก ก็ควรทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้ละเอียดและสม่ำเสมอ ลงบันทึกรายรับรายจ่ายอยู่ตลอด เพื่อให้ทราบรายได้ที่แท้จริง ละเอียดและครบถ้วน
อย่างไรก็ตามก็ย่อมมีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดได้สูง ซึ่งส่งผลให้อาจถูกตรวจสอบย้อนหลังได้ ดังนั้น ควรตัดสินใจจดทะเบียนนิติบุคคล เพื่อให้การทำบัญชีเข้าระบบตามมาตรฐานโดยนักบัญชี (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ “แนวทางวางแผนภาษี…หลังคลินิกทันตกรรมจดบริษัทนิติบุคคล”) หรือให้สำนักงานบัญชีดูแลเรื่องของบัญชีเพื่อตัดปัญหาเรื่องข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ